คดีลอบค้ามนุษย์ ของ ปวีณ พงศ์สิรินทร์

มกราคม 2558 มีการพบว่าชาวโรฮีนจาจากพม่ากำลังถูกขนอยู่ในรถบรรทุกที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พลตำรวจตรีปวีณ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคแปดในขณะนั้น ถูกเสนอชื่อเป็นหัวหน้าชุดสอบสวน แต่ถูกคัดค้านโดยรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนหนึ่ง เนื่องจากปวีณเคยจับกุมนักการเมืองรายใหญ่คนหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้น นานาชาติส่งเสียงกดดันประเทศไทยให้รัดกุมต่อการปราบปรามคดีค้ามนุษย์ พลตำรวจเอกเอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต้องการทำผลงานในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงแต่งตั้งพลตำรวจตรีปวีณเป็นหัวหน้าชุดสอบสวน

ปวีณและเจ้าหน้าที่ตำรวจในบังคับบัญชากว่าแปดสิบนาย ต้องรวบรวมข้อมูลและหาด้วยตนเอง เนื่องจากไม่ได้รับการสนับสนุนจากตำรวจภูธรภาคแปด ชุดสอบสวนของปวีณสามารถรวบรวมหลักฐานแก่ศาล นำไปสู่การออกหมายจับถึง 153 ครั้ง[1]เกี่ยวพันถึงนักการเมืองท้องถิ่น และนักธุรกิจผู้ร่ำรวยในท้องถิ่น ตลอดจนนายทหารบก นายทหารเรือ และเจ้าหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่

ออกหมายจับนายทหาร

หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับคือพลโทมนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงในภาคใต้ ภายหลังปวีณได้รับหมายจับพลโทมนัสจากศาล ปวีณก็ได้รับการติดต่อจากคนใกล้ชิดพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นนัยว่าต้องการให้พลโทมนัสได้รับการประกันตัว[1] แต่ปวีณคัดค้าน เนื่องจากผู้ต้องหาคนอื่นกว่าหกสิบคนไม่มีใครได้รับการประกันตัว ท้ายที่สุด พลโทมนัสก็ไม่ได้รับการประกันตัวและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำนาทวี จังหวัดสงขลา

ขณะที่ปวีณเดินหน้าทำคดี เขาได้รับการติดต่อจากเจ้ากรมจเรทหารบก เพื่อย้ำว่าผู้กำกับดูแลพลโทมนัส คือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเตือนให้เขาหยุดทำคดี[1] แต่ปวีณยังคงเดินหน้าทำคดีต่อไป และขยายผลจนนำไปสู่การออกหมายจับนายทหารระดับกลางถึงระดับสูงอีกจำนวนสี่นาย เมื่อหมายจับถูกส่งไปยังต้นสังกัดของบรรดานายทหารผู้ต้องหา ก็เกิดความไม่พอใจอย่างรุนแรงจากกองทัพ

กันยายน 2558 ปวีณได้รับคำเตือนฉันมิตรจากพลตำรวจตรีพชร บุญญสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ว่าตัวเขาได้ข่าวพลเอกว่าประยุทธ์กำลังไม่พอใจปวีณ และอาจกระทำบางอย่างเพื่อให้ปวีณหยุดทำคดี ข่าวนี้ทำให้ปวีณรู้สึกเกรงกลัว เพราะขณะนั้นพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

ชุดสอบสวนของปวีณเป็นอันยุติการทำงาน ภายหลังจากที่พลตำรวจเอกเอก อังสนานนท์ ถูกย้ายไปเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ของชุดสอบสวนเฉพาะกิจถูกบังคับให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ อย่างไรก็ตาม แม้การสอบสวนยุติลงแล้ว ก็ยังมีความโกรธเคืองที่ทับถมอยู่จากฝ่ายทหาร ปวีณถูกต่อว่าจากพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ และถูกด่าทอจากพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

21 ตุลาคม 2558 ปวีณได้รับคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดยะลา ซึ่งยังคงมีความไม่สงบทางอาวุธ ปวีณรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชันจินดา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ท้ายที่สุด ปวีณส่งหนังสือลาออกในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558

ออกจากราชการและลี้ภัย

ภายหลังการส่งหนังสือลาออก ปวีณได้รับการติดต่อจากพลตำรวจโทต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อแจ้งว่าข่าวการลาออกของปวีณทราบแล้วถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์ไม่ต้องการให้ปวีณลาออก[1] และในวันต่อมา ปวีณได้รับการติดต่อจากพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ และได้รับข้อเสนอทางเลือก ระหว่างตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รับผิดชอบคดีลอบค้ามนุษย์ หรือตำแหน่งในหน่วยงานในพระองค์ ปวีณยังคงอยากเป็นตำรวจ จึงแจ้งต่อพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ว่าต้องการทำงานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ต่อไป[1]

12 พฤศจิกายน 2558 ปวีณเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและลงนามในเอกสารเพิกถอนใบลาออก แต่ในวันต่อมาเมื่อเขาไปพบพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กลับได้รับคำบอกกล่าวให้ลาออกและอยู่เงียบๆ และได้รับคำบอกในทำนองเดียวกัน[1] จากพลตำรวจเอกจุมพล มั่นหมาย ผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในขณะนั้น ปวีณมึนงงจึงพยายามติดต่อพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ แต่ก็ติดต่อไม่ได้อีกต่อไป

ปวีณกังวลว่าเขาอาจถูกยัดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากไม่ยอมเลือกทำงานภายใต้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ปวีณจึงรีบเดินทางกลับภูเก็ต และเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 และเดินทางถึงประเทศออสเตรเลียในฐานะผู้ลี้ภัยในวันที่ 5 ธันวาคม 2558[1]